ศธ.เช็กข้อสอบโอเน็ต ข้อ 51-52 บกพร่องหรือไม่

ศธ.เช็กข้อสอบโอเน็ต ข้อ 51-52 บกพร่องหรือไม่
 

“พงศ์เทพ” เตรียมเช็กข้อสอบโอเน็ต วิชาภาษาไทย ข้อ 51 กับ 52 มีข้อบกพร่องหรือไม่ หากบกพร่องจริง ยันไม่ทำให้เด็กเสียประโยชน์ ส่วนเด็กร.ร.ปทุมคงคาสมุทรปราการ กับ ร.ร.สมุทรปราการ ทะเลาะวิวาท ชมสนามสอบระงับเหตุไว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสนามสอบ ร.ร.หอวัง ซึ่งจัดการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ชั้น ม.3 ว่า ปีนี้มีนักเรียนม.3 ทุกสังกัดมีสิทธิสอบ 804,892 คน สอบวันที่ 2-3 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.เกิดเหตุนักเรียน ม.3 ร.ร.ปทุมคงคาสมุทรปราการ กับ ร.ร.สมุทรปราการ เกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน แต่เหตุไม่รุนแรง ทางสนามสอบจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความสงบ ตนคิดว่า เด็กจำนวนมากและอยู่ต่างโรงเรียนก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาทะเลาะวิวาทได้ แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องระงับเหตุและหาวิธีไม่ได้เกิดการทะเลาะวิวาทอีกหรือเกิดให้น้อยที่สุด ส่วนการสอบโอเน็ต ม.6 วันที่ 9-10 ก.พ.นี้ เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาท เพราะเป็นระดับที่สำคัญต้องนำคะแนนไปใช้ศึกษาต่อ

จากนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตนได้ฝาก สทศ.ให้ออกข้อสอบที่สอดคล้องกับแบบทดสอบที่เป็นสากล เช่น ข้อสอบของ PISA เพื่อให้การวัดประเมินนักเรียนนักศึกษาที่เทียบเคียงกับนานาชาติ จะได้รู้ว่าเด็กไทยต้องปรับปรุงในจุดใดบ้าง สำหรับการสอบแบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT โดย PAT-2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ และ PAT-5 ความถนัดทางวิชาชีพครู ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มี.ค.ที่เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทาง สทศ.ได้ประสานกับคณะกรรมการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครแล้ว ให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าสอบที่มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ2,000 คน ซึ่งนักเรียนบางคนอาจเกิดปัญหาไม่สามารถใช้สิทธิได้ เพราะสนามสอบอยู่ไกลจากหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะผู้เข้าสอบทั้งหมดมีจำนวนแสนกว่าคน

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า กรณีข้อบกพร่องกระดาษคำตอบชุดเลขคู่ 200 400 600 โอเน็ตวิชาภาษาไทยชั้นม.3 ของการสอบวันที่ 2 ก.พ.มีปัญหาในข้อที่ 51และ 52 ที่กระดาษคำตอบไม่รองรับกับโจทย์ทำให้ต้องไขว่ตอบระหว่างข้อดังกล่าว จนผู้สอบต้องสอบถามครูผู้คุมสอบเพื่อความชัดเจนนั้น เรื่องนี้จะให้กรรมการตรวจข้อสอบไปตรวจดูข้อบกพร่องของข้อสอบก่อน หากเป็นความบกพร่องของข้อสอบจริง จะดำเนินการแก้ไขไม่ให้เด็กเสียผลประโยชน์

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.กล่าวถึงกรณีปัญหาการสอบโอเน็ตวิชาภาษาไทย ว่า ตนได้รับรายงานขอร้องเรียนดังกล่าวแล้ว และได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยจะมีการประชุมในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากกระดาษคำตอบของสทศ.มีปัญหาจริง สทศ.จะดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้อง เป็นธรรมแก่นักเรียนทุกคน ภายใต้หลักในการพิจารณาอย่างถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานของสทศ. ดังนั้น อยากฝากนักเรียนทุกคนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับคะแนน

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่นักเรียนผู้สอบพยายามสอบถามกับผู้คุมสอบ จนกระทั่งใกล้หมดเวลาสอบจึงได้รับคำชี้แจงจาก สทศ.ให้นักเรียนผู้สอบแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้นเองก่อนนั้น คาดว่า น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่ของ สทศ.ไม่น่าจะให้คำชี้แจงผู้คุมสอบว่าจะให้นักเรียนแก้ปัญหาเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทระหว่าง เด็กนักเรียน ร.ร.ปทุมคงคาสมุทรปราการ กับ ร.ร.สมุทรปราการ นั้น เป็นเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม ต้องชมเชยทาง สพม.6 สมุทรปราการ กรรมการผู้คุมสอบ เจ้าหน้าที่ศูนย์สอบ ที่ควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็ว สำหรับวันนี้ (3 ก.พ.) ได้ให้เด็กกลับไปสอบที่ ร.ร.ตนเอง ส่วนการสอบโอเน็ต ม.6 ไม่น่าเป็นห่วง เตรียมป้องกันปัญหาไว้แล้ว

ขอขอบคุณที่มาhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000013981

By fernbudsayamad

สทศ.เผยผลสอบวิชาสามัญ ชี้คะแนนภาษาไทยเฉลี่ยสูง-คณิตต่ำสุด

สทศ.เผยผลสอบวิชาสามัญ ชี้คะแนนภาษาไทยเฉลี่ยสูง-คณิตต่ำสุด

สทศ.แจ้งผลสอบ 7 วิชาสามัญ ระบุคะแนนเฉลี่ยดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา  ชี้คะแนนภาษาไทยเฉลี่ยสูง-คณิตต่ำสุด  เตรียมส่งชื่อ นร.สอบ PAT ให้ กทม.เปิดช่องด่วนใช้สิทธิ …

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.จัดสอบ 7 วิชาสามัญได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เพื่อนำผลไปใช้คัดเลือกระบบรับตรงร่วมกัน ประจำปีการศึกษา 2556 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เดิมกำหนดจะประกาศผลวัน ที่ 11 ก.พ.แต่มีการประมวลผลเสร็จเร็วกว่ากำหนดจึงได้ประกาศผลแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ทางเว็บไซต์ สทศ. ที่ http://www.niets.or.th โดยคะแนนเฉลี่ยปีนี้พบว่าดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา วิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ภาษาไทย เฉลี่ย 50.43 รองลงมาคือ ชีววิทยา เฉลี่ย 30.40 อันดับที่ 3 ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 30.01 ฟิสิกส์ เฉลี่ย 29.84 สังคมศึกษา เฉลี่ย 29.18 เคมี เฉลี่ย 25.38 และคณิตศาสตร์ เฉลี่ยต่ำสุด 20.95 ส่วนผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนสูงสุดแต่ละวิชา พบว่า ฟิสิกส์ มีผู้สอบได้ 100 คะแนนเต็ม 1 คน คณิตศาสตร์ ได้เต็ม 100 คะแนน 5 คน, ภาษาอังกฤษ สูงสุด 92.5 คะแนน 1 คน, ภาษาไทย สูงสุด 92 คะแนน 3 คน, เคมี สูงสุด 92 คะแนน 3 คน ชีววิทยา สูงสุด 92 คะแนน 1 คน และสังคมศึกษา สูงสุด 70 คะแนน 2 คน ส่วนวิชาที่มีผู้ได้คะแนนต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ ได้ 1.25 คะแนน คณิตศาสตร์, เคมี, สังคมศึกษา ต่ำสุด 2 คะแนน, ภาษาไทย, ฟิสิกส์ ต่ำสุด 4 คะแนน และชีววิทยาต่ำสุด 7 คะแนน ทั้งนี้ สทศ.กำหนดให้ผู้สอบยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบวันที่ 2-5 ก.พ.นี้ โดยยื่นด้วยตนเองที่ สทศ.กำหนดวันที่ดูกระดาษคำตอบวันที่ 16 ก.พ.นี้

ผอ.สทศ.กล่าวด้วยว่า ส่วนการทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT วันที่ 3 มี.ค.56 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.มีมติให้เพิ่มเวลาพักกลางวันให้นักเรียนไปใช้สิทธิ์นั้น สทศ.ได้ส่งรายชื่อนักเรียนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 2,800 คน และสนามสอบทั้ง 26 สนามใน กทม.ให้กับ กกต.กทม.และปลัด กทม.แล้ว เพื่อพิจารณาว่าผู้เข้าสอบอยู่ในเขตใดบ้าง และจะได้จัดช่องทางพิเศษให้กับนักเรียนและกรรมการคุมสอบ.

 ขอขอบคุณที่มา :  http://www.thairath.co.th/content/edu/324069

By fernbudsayamad

โพลชี้ 92.5% ระบุต้องเร่งแก้การใช้ภาษาไทย

โพลชี้ 92.5% ระบุต้องเร่งแก้การใช้ภาษาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจภาคสนาม เรื่อง “วันภาษาไทยแห่งชาติ กับสิ่งที่คนไทยต้องการรักษาไว้ในสังคมไทย” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,277 ตัวอย่าง พบประเด็นแรกที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ไม่ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันใด มีเพียงร้อยละ 14.7 ที่ทราบ

ภาษาไทย, วันภาษาไทยแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ผลวิจัย
เมื่อสอบถามความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของภาษาไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 ไม่ทราบว่า ภาษาไทยมีสระกี่รูป ร้อยละ 81.2 ไม่ทราบความหมายของร้อยกรอง ร้อยละ 75.0 ไม่ทราบความหมายของร้อยแก้ว ร้อยละ 64.2 ไม่ทราบวรรณยุกต์ในภาษาไทยว่า มีกี่รูป และร้อยละ 11.7 ไม่ทราบว่า พยัญชนะไทยมีกี่ตัว

เมื่อถามถึง พยัญชนะภาษาไทยที่สับสนในการใช้มากที่สุด พบว่า ร้อยละ 26.1 ระบุเป็นตัว “ฎ” ร้อยละ 13.6 ระบุเป็น “ฏ” ร้อยละ 9.8 ระบุเป็น “ร” ร้อยละ 5.8 ระบุเป็น “ฑ” ร้อยละ 4.5 ระบุเป็น “ณ” และร้อยละ 4.5 เท่ากัน ระบุเป็น “ฐ” ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.9 มีปัญหาเรื่องเขียนภาษาไทยผิด ร้อยละ 31.9 จับใจความผิด ร้อยละ 29.6 พูดผิด ร้อยละ 27.5 อ่านผิด ร้อยละ 18.6 ฟังผิด เป็นต้น

ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในการใช้ภาษาไทย ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ระบุ คือ กลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 46.0 ระบุเป็นกลุ่มนักร้อง ร้อยละ 44.8 ระบุเป็นกลุ่มดารานักแสดง ร้อยละ 18.1 ระบุผู้ดำเนินรายการวิทยุ ร้อยละ 17.2 ระบุเป็นนักการเมือง ร้อยละ 17.2 ระบุเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ร้อยละ 15.8 ระบุเป็นผู้ประกาศข่าว และร้อยละ 8.9 ระบุเป็นครูอาจารย์ ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.5 ระบุต้องเร่งแก้ไขอนุรักษ์ฟื้นฟูการใช้ภาษาไทยในช่วงเวลานี้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.5 ระบุว่า ไม่ต้องเร่งแก้ไข

ขอขอบคุณที่มา : http://campus.sanook.com/u_life/knowledge_05526.php

By fernbudsayamad

ภาษาไทยวิบัติหนัก ลามทั่วโลกออนไลน์ เตือนเด็กๆ ดูไว้เป็นเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง…

ภาษาไทยวิบัติหนัก ลามทั่วโลกออนไลน์ เตือนเด็กๆ ดูไว้เป็นเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง…

บนโลกออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ทเวิร์ค เป็นสถานที่ที่สามารถพบปะพูดคุย แชร์ หรือแบ่งปันข่าวสารกันได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คนไม่น้อยต่างหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เฟซบุ๊ก’ สังคมออนไลน์อันดับต้นๆที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย

เมื่อพูดถึงเฟซบุ๊กแล้ว หลายคนคงรู้จักและใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เจ้าสังคมออนไลน์นี้เองไม่ใช่เพียงแต่ส่งผลดีเท่านั้น หากสังเกตดีๆก็จะพบว่า วัยรุ่นไทยสมัยนี้ มักใช้ภาษาทั้งการพูดและเขียนที่ค่อนข้างเพี้ยนไปจากเดิมมากหรืออาจเรียกได้ว่า ‘ภาษาวิบัติ’ การที่ประชากรไทยจำนวนไม่น้อยใช้ภาษาไทยในการพูดและเขียนเพี้ยนไปจากเดิมก็เพราะว่าต้องการให้เขียนสั้น อ่านง่าย แถมสะดวกและรวดเร็ว

แต่ก็มีกลุ่มที่คุยกันด้วยภาษาสก๊อยในเฟบุ๊ก ที่ใช้ชื่อเฉพาะตัวว่า ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย (น่าจะอ่านว่า “สมาคมนิยมสก๊อย) อ่านแล้วอาจยังไม่เข้าใจ ซึ่งกลุ่มนี้ได้ใช้ภาษาเฉพาะของกลุ่ม อ่านเข้าใจกันในหมู่สก๊อย ซึ่งขณะนี้มีคนที่เข้ามาสนใจกดไลค์แล้วมากถึง 21,446 คน

ทีมข่าวลองพยายามแปลภาษาจากรูปภาพปกในเพจ ใจความว่า ‘ยินดีต้อนรับพี่ๆ ทุกคนนะคะ’ (แปลเฉพาะบรรทัดแรก) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทีมข่าวก็ยังไม่แน่ใจว่าแปลถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้แล้ว การนำเสนอของเพจนี้ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นสเตตัสหรือการโพสรูปภาพ ก็จะใช้ภาษาสก๊อยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จากการสำรวจก็พบว่าหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในเพจเอง หรือตามบอร์ดต่างๆ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักหน่วงถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมและส่งผลให้ภาษาไทยวิบัติอีกทั้งยังเป็นการสร้างนิสัยการอ่านการเขียนแบบผิดๆด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้อมูลไปยัง ราชบัณฑิตยสถาน เพื่อขอความคิดเห็นจากทางราชบัณฑิต เบื้องต้นได้รับแจ้งจากฝ่ายประสานงานว่า กรณีดังกล่าว ทางราชบัณฑิต ได้รับทราบข้อมูลแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูล และวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้ภาษา ตลอดจนพฤติกรรมการสื่อสารดังกล่าว โดยเตรียมจะเปิดเผยข้อมูลได้ก่อนถึงวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่จะมาถึงในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้

by Nuttha

ขอขอบคุณที่มา : http://news.voicetv.co.th/thailand/45008.html

By fernbudsayamad

พม่าฮิตเรียนภาษาไทยรับตลาดงาน เตรียมคลอดบัณฑิตรุ่น 1 ปี′56 ดึงเข้า บ.เอกชนไทย

พม่าฮิตเรียนภาษาไทยรับตลาดงาน เตรียมคลอดบัณฑิตรุ่น 1 ปี′56 ดึงเข้า บ.เอกชนไทย

ดร.วิน วิน ซอว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง

ล่าสุด ดร.วิน วิน ซอว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง (Yangon University of Foreign Languages : YUFL) เปิดเผยต่อ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันนักเรียนชาวพม่านิยมเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และทางมหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาเพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาสาขาภาษาไทยเพิ่มอีกในปีการศึกษาหน้า

มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง เปิดสอนภาษาไทยมาตั้งแต่ปี 2540 โดยเริ่มจากการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตร และเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากนั้นในปี 2553 จึงเปิดสอนภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ถือเป็น 1 ใน 9 วิชาเอกภาษาต่างประเทศที่เปิดสอนของมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันมีนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยจำนวนกว่า 200 คน จากนักเรียนทั้งมหาวิทยาลัยจำนวน 2,000 คน

“ฉันเชื่อว่านักศึกษาสนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอน แม้จะยังเป็นรองภาษาอังกฤษ และภาษาจีนอยู่ แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้งอย่างรอบด้านมาตั้งแต่ปี 2533 และดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการฝึกอบรม การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ หนังสือ และเครื่องไม้เครื่องมือในการสอน จึงยิ่งทำให้ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้งเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นักศึกษาพม่าที่เรียนภาษาไทยยังมองถึงลู่ทางการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยในอนาคตด้วย” นางวิน วิน ซอว์กล่าว

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง

ด้านนายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เปิดเผยว่า นักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยจะจบการศึกษารุ่นแรกในปี 2556 โดยแต่ละรุ่นมีราว 60 คน

โดยนักศึกษาเอกภาษาไทยของมหาวิทยาลัยต่างประเทศย่างกุ้งถือว่าเป็นนักศึกษาระดับหัวกะทิของพม่า ซึ่งต้องสอบแข่งขันกันเข้ามา และบัณฑิตในรุ่นแรกจะมี

ขีดความสามารถภาษาไทยอยู่ในระดับดี ทั้งในด้านการสื่อสาร อ่านเขียน และไวยากรณ์ การเรียนภาษาไทยของชาวพม่าที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเปิดประเทศและพัฒนาทางเศรษฐกิจของพม่า เชื่อว่ามีการเรียนไทยของนักศึกษาชาวพม่า มาพร้อมกับโอกาสของวิชาชีพในอนาคตอีกด้วย

“ภาษาไทยมาพร้อมกับโอกาสด้านการงานอาชีพในประเทศพม่า เนื่องจากนักธุรกิจไทยจำนวนมากที่เข้ามาในพม่าต้องการบุคลากรที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งรู้ธรรมเนียม วัฒนธรรม และกฎหมายในพม่า และขณะเดียวกันก็มีความรู้ในภาษาไทยด้วย” นายพิษณุกล่าว

ทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากช่องทางด้านการงานแล้ว ชาวพม่านิยมเรียนภาษาไทย เนื่องจากทัศนคติในทางบวกต่อไทย และยังมองไทยเป็นประเทศที่สามารถเดินทางไปศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ และในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง จะริเริ่มโครงการใหม่โดยร่วมมือกับภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในพม่า นำนักศึกษาชาวพม่าที่เรียนภาษาไทยไปฝึกงาน และรับทำงานในอนาคต เพื่อให้ความนิยมของการเรียนภาษาไทยในพม่าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวไทยก็เริ่มให้ความสนใจในการเรียนภาษาพม่าแล้วเช่นกัน

นางวิน วิน ซอว์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง ได้เปิดหลักสูตรการสอนภาษาพม่าให้แก่นักเรียนต่างชาติ โดยปัจจุบันมีนักเรียนไทยจำนวน 15 คน มีทั้งสนใจมาเรียนด้วยตนเอง และมาจากกองทัพไทย โดยมหาวิทยาลัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีนักศึกษาไทยสนใจภาษาพม่ามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเรียนภาษาพม่าที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง ต้องมีอายุต่ำกว่า 45 ปี, ได้รับการรับรองจากสถานทูตไทยในพม่า, สำหรับผู้ที่มีพื้นความรู้ภาษาพม่าต้องลงเรียนคอร์สภาษาเพื่อวิชาชีพ (Proficiency Course) กับทางมหาวิทยาลัยก่อน ส่วนผู้ที่ไม่เคยเรียนภาษาพม่ามาก่อน สามารถลงเรียนในหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Arts) กับทางมหาวิทยาลัยได้ โดยค่าเล่าเรียนอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ปี 2556 รัฐบาลไทย-พม่าครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยาวนานถึง 65 ปี การกระชับความร่วมมือระหว่างกันจะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นในระดับประชาชน โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง

จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศย่างกุ้ง เปิดสอนภาษาพม่าหลักสูตรเร่งรัดภายใน 90 วัน ให้แก่ผู้ที่เข้ามาประกอบธุรกิจชาวไทยในพม่า เพื่อใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยมีโครงการจะเปิดสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ละ 1-2 วัน

ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างประเทศย่างกุ้งกำลังร่างหลักสูตร ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทยกำลังดำเนินการในขั้นตอนการของบประมาณทางกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี และจะเริ่มโครงการในช่วงต้นปีหน้า นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าจะมีการร่วมมือกันเพื่อจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-พม่า เพื่อเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย

ขอขอบคุณที่มาhttp://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1354857191&grpid=00&catid=19

By fernbudsayamad